ชื่อไทย เวียน
ชื่อสามัญ GREATER BROOK CARP
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tor tambroides
ถิ่นอาศัย ชอบอยู่ในบริเวณน้ำตก ห้วย และลำธารที่มีน้ำใสสะอาด มีพื้นเป็นกรวดหินหรือทราย เช่น ในแม่น้ำไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี แม่น้ำวัง จังหวัดเชียงใหม่ แม่น้ำปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ทางภาคใต้จะมีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ปกติชอบอาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำ แต่ในฤดูฝนจะอพยพย้ายถิ่นลงมาทางปากน้ำ ตามรายงานทางวิชาการกล่าวว่า ปลาเวียนในแม่น้ำแม่กลอง พอถึงฤดูฝนจะว่ายตามกระแสน้ำลงไปจนถึงปากแม่น้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า " ปลาเหลิงน้ำ " และจะว่ายวนเวียนอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำ นานประมาณ 4 - 8 สัปดาห์ จากนั้นจะหวนกลับไปยังต้นน้ำ แสวงหาสถานที่อันเหมาะสมเพื่อผสมพันธุ์ จะวางไข่ในช่วงมิถุนายน และกรกฎาคม
ปัจจุบันปลาเวียนได้สูญพันธุ์ไปจากจังหวัดเพชรบุรีอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของธรรมชาติได้เปลี่ยนแปลงไปทางเสื่อม


ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน รูปทรงคล้ายคลึงกับปลาตะเพียนขาว แต่มีสีสันสะดุดตา ลำตัวมีสีฟ้าอมเขียว บริเวณส่วนหลังเขียวเข้ม เกล็ดใหญ่ แต่ละเกล็ดจะมีจุดสีน้ำเงินเล็ก ๆ เรียงกันเป็นวง ดูคล้ายเป็นร่างแหอยู่ทั่วตัว ทุกครีบมีสีน้ำเงินเข้ม หัวมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับลำตัวมีหนวดยาวอยู่ 2 คู่ ตรงบริเวณจะงอยปาก และมุมปาก ริมฝีปากหนา ใต้คางมี ติ่งเนื้อยื่นเห็นได้ชัด ครีบหลังมีก้านแข็ง 1 อัน นัยน์ตาค่อนข้างจะเล็ก
การสืบพันธุ์ - อาหารธรรมชาติ กินพืชพรรณไม้น้ำ ผลไม้และเมล็ดพืชแทบทุกชนิด การแพร่กระจาย - สถานภาพ (ความสำคัญ) เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ