ชื่อไทย เข็ม
ชื่อสามัญ HALF-BEAK, WRESTLING HALF-BEAK
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermogenus pusillus
ถิ่นอาศัย พบในแหล่งน้ำนิ่งตามบ่อ สระ บึง สำหรับแหล่งน้ำไหลพบได้จากแม่น้ำและลำธารที่มีกระแสน้ำไหลปานกลาง
ลักษณะทั่วไป ขนาดเล็ก ลำตัวเรียวยาวคล้ายเข็มเย็บผ้า ด้านข้างแบน ปากยาวแหลม ขากรรไกรล่างคือส่วนที่ยื่นออกมา ขากรรไกรบนมีขนาดเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยมใช้ในการจับเหยื่อและต่อสู้ป้องกันตัวระหว่างปลาพวกเดียวกัน มีครีบหูใหญ่และแข็งแรง ทำให้สามารถกระโดดจับแมลงตัวเล็ก ๆ ที่อยู่บนผิวน้ำกินเป็นอาหารได้ เหยื่อของปลาเข็มจะต้องอยู่ในน้ำที่มีระดับความลึกของน้ำไม่เกิน 10 ซม . ซึ่งเป็นระดับที่ปลาเข็มหากิน นอกจากนี้ยังมีสายตาที่แหลมคมสามารถมองวัตถุที่อยู่เหนือน้ำได้ดีกว่าปลาชนิดอื่น อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 8 - 10 ตัว และจะมีปลาตัวผู้ทำหน้าที่ผู้คุมฝูงอยู่เพียงตัวเดียว ออกลูกเป็นตัวครั้งละไม่เกิน 30 ตัว
การสืบพันธุ์ ตัวผู้ที่มีความแข็งแรงและกัดเก่งเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ครอบครองตัวเมีย นี่เป็นวิธีการคัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะได้ลูกหลานที่แข็งแรงเพื่อความอยู่รอด ปลาตัวผู้จะใช้ปากแยงบริเวณก้นตัวเมียเป็นการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศให้แก่ตัวเมีย ในขณะว่ายเคียงคู่ไป ตัวผู้จะสอดอวัยวะที่ใช้ในการฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในช่องเพศเมีย ตัวอสุจิจะถูกดูดซึมเข้าไปที่ผนังของรังไข่ และถูกใช้ไปบางส่วนในการปฏิสนธิกับไข่
หลังจาก 3 - 5 สัปดาห์ ลูกปลาตัวแรกก็จะเกิดจากแม่ปลา
อาหารธรรมชาติ กินตัวอ่อนของแมลงน้ำ ลูกน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำ
การแพร่กระจาย - สถานภาพ (ความสำคัญ) เป็นปลาสวยงาม